Submitted by atiwong.s on ศ, 09/09/2022 - 08:03

ระยะนี้ พวกเราหลาย ๆ คนอาจรู้สึกว่าตัวเองหายใจลำบากเหมือนว่าอากาศมันหนักขึ้น ส่วนคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืดอาการต่าง ๆ ก็กำเริบได้ง่ายกว่าปกติ อาการเหล่านี้ อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากหมอกฝุ่น PM2.5 ซึ่งผู้คนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลน่าจะสังเกตเห็นได้ไม่ยากนัก ลองมองไปบนท้องฟ้า จะเห็นราวกับว่าหมอกสีเทากำลังปกคลุมจนแทบจะบังตึกสูงระฟ้าได้หมด คนที่กำลังขับรถบนท้องถนนก็ประสบกับทัศนวิสัยที่จำกัดซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และยิ่งไปกว่านั้น ภาพถ่ายที่ส่งมาจากสถานีอวกาศนอกโลกแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีค่าดัชนีฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง คือเกินกว่าค่ามาตรฐานมาก  แล้วฝุ่น PM2.5 คืออะไร มาจากไหน พวกเราจะป้องกัน รวมถึงแก้ไขได้อย่างไร ไปดูกัน

Image removed.

 

ฝุ่น PM2.5 ก็คือ ฝุ่นชนิดหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าขึ้นชื่อว่าฝุ่น มันก็ต้องล่องลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ และเมื่อมีปริมาณมากก็จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศได้ แต่สิ่งที่ฝุ่นชนิดนี้แตกต่างจากฝุ่นทั่ว ๆ ไป ก็คือ อนุภาคมันมีขนาดเล็กมาก หลายคนอาจนึกในใจว่า ฝุ่นมันก็ต้องมีขนาดเล็กมากเป็นธรรมดาอยู่แล้วนี่ แต่ที่จริงแล้วฝุ่น PM2.5 นี่มันเล็กมาก (กว่าธรรมดามาก) กล่าวแบบนี้อาจจะยังเห็นภาพไม่ชัด แต่ถ้าเทียบขนาดเป็นตัวเลขอาจจะเห็นภาพได้ชัดขึ้น อนุภาคของฝุ่นขนาดเล็กทั่วไปนั้น มีขนาดมากกว่า 2.5 ไปจนถึง 10 ไมครอน ในขณะที่อนุภาคของฝุ่น PM2.5 นั้น มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (0.025 เซนติเมตร) จึงเป็นที่มาของชื่อ PM2.5 ซึ่งย่อมาจาก Particle Matter 2.5 นั่นเอง ด้วยขนาดที่เล็กเกินกว่าขนจมูกจะสามารถกรองได้นี่เอง ที่ทำให้ฝุ่นจิ๋วนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก

ฝุ่นควันทั่วไปก่อให้เกิดการระคายเคือง รวมถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพดวงตาและระบบทางเดินหายใจของสิ่งมีชีวิต แต่ฝุ่น PM2.5 สามารถบั่นทอนสุขภาพของพวกเราได้มากกว่านั้น เพราะนอกอนุภาคขนาดจิ๋วนี้สามารถทะลุด่านป้องกันแรกของทางเดินหายใจส่วนต้นซึ่งก็คือขนจมูก ผ่านหลอดลมเข้าไปในปอดได้อย่างง่ายดายแล้ว มันยังสามารถแทรกผ่านเยื่อบุถุงลมปอดเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้น เมื่อเราสูดเอาอากาศที่ปนเปื้อนฝุ่น PM2.5 เข้าไป นอกจากเราจะได้รับออกซิเจนน้อยลงเนื่องจากปอดทำงานได้ไม่เต็มที่จนทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะแล้ว ฝุ่นจิ๋วที่เข้าไปสะสมในอวัยวะต่าง ๆ ในระยะยาว ก็จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ และเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่าง ๆ เช่น มะเร็งปอด หลอดเลือดตีบตัน และหัวใจวาย เป็นต้น  จะเห็นว่า ฝุ่น PM2.5 นี้อันตรายไม่จิ๋วตามขนาดเลย ว่าแต่ฝุ่นพิษนี้มาจากไหนกันนะ แล้วเราจะป้องกันได้อย่างไร

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ได้แก่ กิจกรรมการเผาต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน หรือก๊าซมลพิษต่าง ๆ ตั้งแต่สเกลเล็ก ๆ อย่างการสูบบุหรี่ จุดธูป ใช้ถ่านหุงต้ม ไปจนถึงสเกลใหญ่ ๆ อย่างการเผาไหม้เชื้อเพลิงดีเซลยานพาหนะหรือเชื้อเพลิงถ่านหินจากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาซังพืชในพื้นที่การเกษตร เผาขยะ และลักลอบเผาป่า ล้วนก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ได้ ยิ่งช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวเป็นฤดูร้อน เมื่อลมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนลงส่งผลให้ลมสงบนิ่ง ประกอบกับการที่อากาศระดับล่างยังมีอุณหภูมิต่ำ ส่วนอากาศระดับกลางถัดมาเริ่มร้อนขึ้น และอากาศชั้นบนสุดซึ่งเย็นกว่าก็จะมีความกดอากาศสูง ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทำให้ฝุ่นลอยตัวขึ้นไปไม่ได้ อากาศไหลเวียนถ่ายเทไม่ดี ทำให้สถานที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นควัน รวมถึงบริเวณใกล้เคียง มีปริมาณฝุ่นจิ๋วดังกล่าวสะสมอยู่มากจนก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศตามมา ดังนั้น การลดหรืองดกิจกรรมการเผาต่าง ๆ ตลอดจนการเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นการป้องกันที่สาเหตุจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดการเกิดฝุ่น PM 2.5  

อย่างไรก็ตาม การลดหรืองดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กล่าวคือ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน และอาจต้องใช้เวลา ด้วยเหตุนี้ พวกเราอาจจะต้องประสบกับมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 เป็นระยะ ๆ ไปจนกว่าการป้องกันและแก้ไขสาเหตุของการเกิดฝุ่นอันตรายนี้จะประสบความสำเร็จ  การป้องกันตนเองจึงอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ได้ในขณะนี้ การใช้เครื่องฟอกอากาศเป็นวิธีหนึ่ง ที่ช่วยลดมลพิษจากฝุ่นดังกล่าว ให้กับคนที่อาศัยอยู่ในบ้าน หรือทำงานอยู่ภายในอาคารได้  การสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกไปทำธุระข้างนอกหรือขณะทำงานนอกอาคาร ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่จะสูดหายใจอากาศที่ปนเปื้อนฝุ่นพิษนี้ได้เช่นกัน

ในปัจจุบัน มีหน้ากากอนามัยให้เราเลือกซื้อมากมาย การเลือกซื้อหน้ากากมาใช้ นอกจากต้องคำนึงถึงคุณภาพแล้ว เรายังควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์การใช้งานด้วย เช่น เราต้องการหน้ากากที่สามารถป้องกันเชื้อโรคหรืออนุภาคฝุ่นขนาดเล็กอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือว่าต้องการป้องกันทั้งสองอย่าง  นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องสวมหน้ากากปฏิบัติงานเป็นเวลานาน ๆ เช่น บุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล โรงงาน หรือบนท้องถนน อาจพิจารณาเลือกใช้หน้ากากชนิดที่มีคุณสมบัติช่วยให้ผู้สวมใส่หายใจได้สะดวก ไม่รู้สึกอับชื้น ในขณะที่ยังคงประสิทธิภาพในการป้องกันได้ดี

ด้วยความห่วงใย

CU Engineering Enterprise

อ้างอิง

  1. https://www.thaipbsworld.com/tag/pm2-5-dust-particles/
  2. http://pm25.gistda.or.th/pm25/
  3. http://doh.hpc.go.th/bs/topicDisplay.php?id=248
  4. https://tmc.or.th/pdf/tmc_knowlege-90.pdf